ปกติแล้ว Upload คลิปขึ้น Youtube กันแล้ว ใส่ข้อมูลกันแบบไหนกันบ้างครับ? พอคลิป Process เสร็จ ก็ใส่หัวข้อแล้วกด
Publish เลยหรือเปล่า? ถ้าหากว่าเราทำแบบนั้น อยากให้รู้ไว้ก่อนว่า เรากำลังจะสูญเสียโอกาสที่จะทำให้คนเห็นคลิปเรามากขึ้น แถมยังไม่ได้เห็นคลิปอื่นๆ ใน Channel ของเราอีกด้วยนะครับ
ในบทความนี้ผมจะมาพาทัวร์ ดูข้อมูลที่เราควรจะใส่ หลังจากที่เราอัพคลิป เพื่อให้คลิปของเรามีโอกาสในการเห็นมากขึ้นครับ
นี่คือหน้าแรกหลังจากที่เราลากคลิปเข้ามาวางในหน้าต่างและเริ่มทำการ Upload พวกนี้คือแถบข้อมูลพื้นฐานของตัวคลิปที่เราจะต้องใส่ไปก่อน ซึ่งมันประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้ครับ
หมายเลข 1 ส่วนของ Title หรือชื่อของคลิป ที่เรากำลังทำการ Upload ในส่วนนี้ทุกคนคงจะทำได้อยู่แล้ว แต่เท่าที่ได้อ่านมา ผมเลยมีคำแนะนำมาฝากสำหรับคนที่เริ่มต้นทำคลิปว่า ควรจะตั้งชื่อคลิป “ให้กระชับ” และ “ตรง” ตามเนื้อหาในคลิปที่เราทำให้ได้มากที่สุด เพราะส่วนนี้คือสิ่งที่ทำให้คนที่ค้นเจอคลิปของเรา จะรู้ได้ทันทีว่าคลิปของเราเกี่ยวกับอะไร โดยที่ไม่ต้องคลิกไปอ่านรายละเอียดอื่นๆ
หมายเลข 2 รายละเอียดเพิ่มเติมของคลิป ส่วนนี้เราควรจะใช้เพื่อขยายความจากหัวข้อที่เราใส่ไปในตอนแรก “ไม่จำเป็นต้องอธิบายทั้งหมด” ว่าในคลิปของเรามีอะไรอยู่บ้าง แต่ควรจะขยายความให้เข้าใจว่าในคลิปนั้นเรากำลังจะสื่อถึงอะไร มีที่มาที่ไปนิดหน่อย พอสังเขป รวมถึงลิงค์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หากใส่ URL ลงไป Youtube จะแปลงเป็นลิงค์ให้โดยอัตโนมัติ และเรายังสามารถใส่ลิงค์ของคลิปอื่นๆ ที่เราอยากแนะนำไว้ในส่วนนี้ได้ด้วย
ในรายละเอียดนี้เราสามารถเพิ่ม Hashtag โดยการใส่เครื่องหมาย # นำหน้าคำที่เราต้องการใช้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการค้นเจอได้ ผมมี Tips นิดหน่อย คือ เวลาผมจะใส่ Hashtag ลงไป ผมจะไปดูคลิปที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันก่อนว่าเค้าใส่ Hashtag แบบไหน เพื่อให้คลิปของผมมี Hashtag แบบเดียวกัน ก็จะเพิ่มโอกาสในการค้นเจอจาก Hashtag นั่นเอง
การใส่ Hashtag นั้น ทำได้สูงสุด 3 คำ และจะปรากฏเป็นลิงค์อยู่ในรายละเอียดนั่นเอง หากใส่มากกว่านั้น มันจะโชว์เป็นตัวอักษรธรรมดา
หมายเลข 3 ภาพหน้าปกสำหรับคลิป เหมือนกับเวลาเราจะดูหนังสักเรื่อง ภาพหน้าปกจะเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของเราก่อนเช่นกัน ควรจะสร้างปกที่ตัดภาพจากในคลิปมา หรือเป็นภาพที่เราต้องการสื่อให้เห้นถึงเนื้อหาในคลิปโดยรวม อย่าใส่ตัวหนังสือเยอะจนบังภาพที่เราต้องการให้เห็น
พอทำทั้งสามส่วนเสร็จแล้ว เลื่อนลงมาอีกหน่อย เราจะเห็นส่วนที่ซ่อนอยู่ข้างล่าง นั่นคือส่วนของ Play List และ Option เพิ่มเติม ซึ่งเรา “ควรอย่างยิ่ง” ที่เราจะมาใส่ข้อมูลเพิ่มในส่วนนี้ครับ
ในส่วนของ Play List นั้น หากว่าเรามีเนื้อหาประเภทเดียวกันเยอะๆ เราควรจะสร้าง Playlist เอาไว้ เพื่อให้คนที่สนใจ ได้ดูคลิปของเราในเนื้อหาเดียวกันนั้นโดยไม่ต้องมานั่งหา อย่างของผมทำเรื่อง OBS Studio ผมก็จะทำเป็น Play List เอาไว้ด้วย เพื่อให้คนที่สนใจเรื่องนี้ เลือกดูตอนอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ OBS ได้เลย
หากคลิปไม่ได้สร้างมาเพื่อให้เด็กดู และไม่ได้จำกัดอายุผู้ดู เราสามารถข้ามในส่วนของ Audience ไปได้เลย แล้วมาคลิกที่ More Options เพื่อมาจัดการเพิ่มข้อมูลในส่วนถัดไป
เมื่อคลิกที่ More Option แล้วจะมีหัวข้อแยกย่อยมาอีกเพียบ อย่าพึ่งเบื่อกันนะ ส่วนนี้แหละที่จะเพิ่มโอกาสให้คนเจอคลิปเรา และปรับคนดูให้ตรงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้นอีกเยอะเลย
ในหัวข้อ Paid Promotion หากว่าคลิปของเราไม่ได้ทำเพื่อการโฆษณาสินค้าก็ไม่ต้องติ๊กนะครับ ส่วนใหญ่กรณีแบบนี้ ถ้าเป้นการรีวิวสินค้า หรือรีวิวบริการที่เราไปใช้งานก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
หัวข้อ Tag เป็นสิ่งที่ทุกคนข้ามไปไม่ได้เด็ดขาด ขอย้ำ ไม่ควรข้ามไปเด็ดขาด !!
Tag นั้นเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญในการค้นหาคลิปของเราไม่ว่าจะเป็นจากช่องทางใดๆ คนอาจจะเจอคลิปเราจากการค้นหาใน Youtube เองหรือเจอเราจาก Google Search ก้ได้ หากว่า Tag ของเราทำหน้าที่ได้ดีพอ
ข้อความใน Tag ควรระบุสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหามากที่สุดเป็นคำๆ และไม่ควรหว่านมากจนเกินไป เพื่อให้คลิปนั้นมีความสำคัญในคำที่เราใช้ Tag มากที่สุด หากว่าใครอยากอ่านเรื่องนี้แบบละเอียด แนะนำให้อ่านบทความด้านล่างนี้ได้เลย
Language เป็นส่วนที่ให้เราเอาไว้เลือกว่าคลิปนี้เราทำเป็นภาษาอะไร เพื่อให้ Youtube สามารถส่งต่อคลิปนั้นไปให้ผู้ชมที่ดูภาษานั้นเป็นหลัก ก่อนที่จะนำภาษาอื่นๆ มาใส่ในการค้นหา หากว่าเราทำคลิปให้คนไทยดู ส่วนนี้ก็ควรจะเลือกไว้ด้วยเหมือนกันนะ และหากใครทำไฟล์ Subtitle ไว้ ก็สามารถคลิกที่ลิงค์ใต้ Language เพื่ออัพโหลดเข้ามาได้เลย
การทำ Subtitle แบบเป็นไฟล์ Text จะมีประโยชน์ในกรณีที่ชาวต่างชาติต้องการดูคลิปของเรา ตัว Youtube จะอาศัย Subtitle ที่เราอัพโหลดไปนี้ แปลผ่าน Google translate กลายเป็น Sub ภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นๆ ที่รองรับได้ด้วย
เอาล่ะ เลื่อนลงมาแล้วมาดูส่วนต่อไปกันครับ
Recording Date and Location หากว่าเราใส่ได้จะช่วยในเรื่องของการค้นหาสถานที่จากคนดู ตัวอย่างเช่น หากว่าเป็นคลิปท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลของสถานที่แห่งหนึ่ง เมื่อคนค้นหาโดยชื่อสถานที่และช่วงเวลา คลิปของเราก็จะมีโอกาสอยู่ในผลการค้นหานั้นด้วย
ในช่อง License จะให้เราเลือกว่าวิดีโอของเรามีลิขสิทธิ์แบบไหน หากเลือก Standard เอาไว้ Youtube จะคอยดูว่ามีคลิปไหนที่เอาของเราไปอัพโหลดในช่องอื่นๆ หรือเปล่า และเรายังสามารถเลือกเป็น Creative Common เพื่อให้คนสามารถเอาไปใช้งานต่อได้ด้วย
ส่วนของ Distribution นั้นจะเลือกเป็น Everywhere อยู่แล้วเป็น Default เว้นแต่ว่าเราทำคลิปนี้เพื่อการโฆษณาล้วนๆ สามารถเลือกให้แสดงเฉพาะการโฆษณา ไม่ปรากฏในการค้นหาได้
อย่าลืมดูด้วยว่ามีติ๊ก Allow embedding เอาไว้แล้วหรือเปล่า เผื่ออยากมีเว็บไหนเอาคลิปเราไปแปะ ก็เพิ่มโอกาสในการเห็นคลิปมากขึ้นอีก ส่วน Publish to subscriptions feed and notify subscribers ก็คือการเตือนและการแสดงคลิปของเราให้คนที่ติดตามเราให้รู้ว่ามีคลิปใหม่นั่นเอง อันนี้ก็ต้องติ๊กไว้เหมือนกัน
สุดท้ายคือ Category คือการเลือกหมวดของคลิปให้ตรงกับเนื้อหาคลิปที่เราทำเช่นกัน หากว่าเราทำคลิปท่องเที่ยว เราอาจจะเลือกหมวดเป็น Travel & Event หากว่าเราทำคลิปสอนทำอะไรสักอย่าง ก็ควรเลือกเป็น How to & Style
เมื่อ Youtube เจอผู้ชมที่สนใจในหมวดเหล่านี้ และรู้ว่าเค้ากำลังสนใจในเนื้อหาคล้ายๆ กับของเราอยู่ คลิปของเราก็จะถูกแสดงไปด้วยนั่นเอง
และในที่สุดเราก็พร้อมจะกด Next ต่อไป เพื่อที่จะทำการ Publish ตัวคลิปของเราได้แล้ว !!
หากอ่านมาจนถึงตอนนี้ ต้องมีคนคิดว่า โอ้โห เยอะและยุ่งขนาดนี้เลยหรือ ผมก็จะบอกว่ามันเป็นสิ่งที่ผมเคยคิดในสมัยแรกๆ เหมือนกัน แต่หลังจากปรับใส่รายละเอียดทั้งหมด แม้จำนวน Subs ของช่องจะไม่ได้มาก แต่คนที่ค้นเจอคลิปของผม มันมากขึ้นอย่างชัดเจน
ดังนั้น อย่ากลัวที่จะเสียเวลาเติมรายละเอียดเหล่านี้ลงไป เพื่อเพิ่มโอกาสให้คนเจอคลิปของเรามากขึ้น ดีกว่าอัพคลิปไปแล้วคนหาไม่เจอนะครับ
ถ้าไม่เชื่อว่าได้ผลแค่ไหน ลองเอาคำว่า OBS Studio ไปแปะใน Youtube หรือ Google ดูก็ได้เอ้า คลิปของผมมันต้องโผล่มาสักคลิปสองคลิปแหละน่า พอเจอแล้วก็กด Subscribe ให้ด้วยนะครับ 🤣🤣
Youtube Channel : https://www.youtube.com/undervlogdotblog
Facebook Page : https://www.facebook.com/undervlog