ทำงานกันมาตลอดทั้งปี แถมในปีที่มี COVID-19 แบบนี้ กว่าที่เราจะได้เที่ยวกันให้สบายใจขึ้นบ้างก็เกือบจะสิ้นปีกันไปแล้ว ผมเองก็พึ่งได้โอกาสหยุดยาวจริงจัง เพื่อจะไปพักผ่อนกับเค้าบ้าง ครั้งนี้เลยตั้งใจจะไปที่จังหวัด จันทบุรี-ระยองกับครอบครัว แต่การไปเที่ยวครั้งนี้ ผมได้เพื่อนใหม่ ซึ่งก็คือ Canon PowerShot G7X Mark III กล้องจิ๋วแต่ยัดความสามารถมาเพียบ ร่วมทางไปในทริปนี้ด้วย
นี่คือการใช้กล้องเพราะไปเที่ยว ไม่ใช่ไปเที่ยวเพื่อใช้กล้องแต่อย่างใด
Canon PowerShot G7X Mark III เป็นกล้อง Compact ที่อัดความสามารถมาให้มากเกินขนาดตัว ด้วยเซนเซอร์ขนาด 1 นิ้วที่ใหญ่กว่ากล้อง Compact ทั่วไป และรูรับแสงที่กว้างตั้งแต่ f1.8-2.8 ทำให้เราสามารถถ่ายภาพแบบชัดตื้นหรือหน้าชัดหลังเบลอ และถ่ายในที่แสงน้อยได้ง่ายขึ้น ความละเอียดภาพสูงถึง 20.1 ล้านพิกเซล และถ่ายวิดีโอได้ในระดับ 4K เลยทีเดียว จอฟลิปได้ ถ่ายตัวเองได้ง่ายๆ ที่สำคัญคือมี Clean HDMI ที่ไปต่อคอมพิวเตอร์ทำ Facebook Live ได้ มีช่องต่อไมค์สำหรับการถ่าย Vlog ให้ได้เสียงที่ดีขึ้น อ้อ และยัง Live ไป Youtube ได้โดยที่ไม่ต้องต่อคอมพิวเตอร์ด้วยนะ
ใครอยากรู้จักกล้องตัวนี้มากกว่านี้ แนะนำให้ไปดูสเปคกันก่อนได้ที่ เว็บไซต์ของ Canon Thailand ครับ
ในบทความนี้ ผมจะนำภาพนิ่งที่ได้จากทริปนี้มาให้ดูและเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์การใช้งานในฐานะพ่อบ้านที่พกกล้องไปเที่ยวกับครอบครัวนะครับ ส่วนของคลิป Vlog ที่ถ่ายมา เดี๋ยวตัดเสร็จแล้วจะนำมาให้ดูกันอีกทีนึง
ถ่ายภาพกลางแจ้งและทิวทัศน์
สถานที่ที่พวกผมเข้าพักชื่อว่า Peggy’s Cove Resort ซึ่งอยู่ใกล้กับจุดชมวิวเนินนางพญาครับ ที่นี่ออกแบบที่พักให้คล้ายกับหมู่บ้านชาวประมงของประเทศแคนาดา มีบ้านพักหลากสีสัน และมีภาพวาดแนวสตรีทอาร์ทอยู่ที่บ้านแต่ละหลังด้วย ช่วงเลนส์ของกล้องที่เทียบเท่า 24-100 มม. ทำให้กว้างพอจะเก็บบรรยากาศโดยรวมได้ไม่ยาก
ทางเดินไปบ้านแต่ละบ้านเป็นสะพานไม้ตัดไปตรงกลางน้ำ สามารถเดินถ่ายรูปเล่นได้ทุกจุด จะเห็นว่ากล้อง G7X Mark III ตัวนี้ ให้สีสันที่ใกล้เคียงตาเห็น และสามารถปรับสมดุลแสงขาว (White Balance) ได้ค่อนข้างดี สีของบ้านแต่ละหลังที่ได้ในภาพ ถ่ายทอดออกมาได้ดีมากๆ
ในสภาพแสงที่มีความเปรียบต่างระหว่างเงาและแสงสว่างสูงก็ยังทำได้ดีอยู่ ในบทความนี้ผมบอกได้เลยว่าแทบจะใช้โหมด Auto ทั้งหมด เพื่อวัดความฉลาดของกล้องให้เต็มที่ เพราะถ้ากล้องดี ถ่ายยังไงก็สนุก ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องปรับแต่งค่าต่างๆ ตลอดเวลา
แม้ว่าจะถ่ายในส่วนที่มีช่วงมืดและสว่างอยู่ในภาพเดียวกันอย่างภาพนี้ เรายังสามารถเห็นโต๊ะที่อยู่ใต้หลังคา และสีสันของท้องฟ้าได้ แต่การจะเห็นท้องฟ้าได้แบบนี้ ก็ต้องถ่ายไม่ให้ย้อนแสงด้วยนะครับ
ถ่ายภาพในร่ม
ในที่ที่แสงไม่มาก โหมด Auto ของกล้องยังสามารถจัดการได้ดี ผมแทบไม่ต้องย่งอะไรกับการตั้งค่ากล้องเลย จัดองค์ประกอบ แล้วยกถ่าย ไม่ต้องพะวงกับการวัดแสงอะไรมากมาย
แม้ว่าจะเป็นแสงธรรมชาติ ปนกับแสงไฟประดิษฐ์ก็หลอกกล้องไม่ได้ การวัดแสงและการทำ White Balance ยังคงทำได้ดีเช่นเดิม
เช่นเดียวกันกับการถ่ายภาพกลางแจ้ง Dynamic Range ของ Canon G7X Mark III ค่อนข้างกว้างมาก แม้ว่าข้างนอกจะสว่าง ก็ยังสามารถเก็บรายละเอียดของภาพในส่วนที่มืดค่อนข้างดี
ถ่ายภาพบุคคลในสถานที่ท่องเที่ยว
ในสถานที่ท่องเที่ยวบางครั้งผมจะใช้การปรับแบบแมนนวลบ้างเพราะต้องการควบคุมแสงให้ได้แบบที่ต้องการ ในกล้องตัวนี้มี ND Filter มาให้ที่เราสามารถเปิดใช้ได้ในเมนู ทำให้แม้เวลาแสงจ้าๆ ก็สามารถทำภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอได้อยู่บ้าง ภาพนี้ผมใช้ Profile ชื่อ Vision Color ทำให้ได้สีสันเฉพาะตัวออกมา แล้วมาดึงแสงและปรับ Contrast อีกนิดหน่อย
พระอาทิตย์ใกล้ตก โหมด Auto ยังพึ่งพาได้ แสงแดงจากพระอาทิตย์เป็นสีตามธรรมชาติ ผมนำมาปรับแสงอีกนิดหน่อยเหมือนเดิม และแก้ White Balance นิดนึงเพื่อไม่ให้นางแบบผมด่าเอาว่าถ่ายยังไงให้คุณเธอหน้าแดง ที่แน่ๆ คือประหยัดเวลาในการทำภาพไปมาก
ภาพนี้ใช้ Profile Vision Color อีกรอบ และนำมาดึงแสงอีกหน่อย ตอนที่ถ่ายในห้อง ตรงที่นั่งค่อนข้างมืดสักหน่อย รู้สึกเหมือนความชัดของภาพลดลงบ้างโดยเฉพาะตรงเส้นผม แต่รวมๆ ถ้านางแบบชอบ แปลว่าภาพโอเค (ก็ถ้าไม่ใช่ช่างภาพจริงจัง คงไม่ซูมดูเส้นผมกันหรอกนะ 🤣)
หลังจากที่เล่นโหมด Auto บ่อยๆ ก็พบว่ากล้องมีความฉลาดตรงที่ถ้าเราถ่ายภาพคนและคนสบตากับภาพ หรือเราเล็งคนอยู่ กล้องจะทำการวัดแสงโดยให้ความสำคัญกับหน้าทันที ผมชอบความง่ายตรงนี้แหละ
ถ่ายภาพอาหาร
จะไปเที่ยวที่ไหน จะขาดอาหารขึ้นชื่อในแหล่งท่องเที่ยวไม่ได้ ภาพผัดไทยเส้นจันทร์ปูนิ่มที่วางบนโต๊ะ จะเห็นว่ามีแสงตกลงมาที่โต๊ะพอดี ซึ่งผมจะเปลี่ยนไปนั่งที่อื่นก็ลำบาก จะเซ็ตถ่ายให้สวย สมาชิกก็หิวแล้ว ก็เลยกดมาเลย ด้วยความที่กล้องช่วยได้ จุดที่แสงตกกระทบกับส่วนมืด เลยไม่ได้ต่างกันมากเกินไป
แต่ถ้าเป็นกรณีที่แสงเป็นปกติ ไม่ส่องมาเป็นจุดๆ แบบภาพก่อนหน้า เราไว้ใจใช้โหมด Auto ไปได้เลย ภาพนี้ผมก็ยกมากดแบบไม่คิดอะไรมาก แต่ถ้าอยากได้ภาพอาหารที่ชัดลึกมากกว่านี้ อาจจะต้องใช้โหมดแมนนวล และปรับรูรับแสงให้แคบลงอีกหน่อย
สมัยก่อนเวลาเจออาหารสีแบบนี้ กล้องจะต้องปรับสีให้อมฟ้ามาแล้ว แต่นี่คืดสีที่ออกมาจากกล้องแท้ๆ แบบไม่ต้องปรับอะไรเลย ได้แบบนี้ เราก็ไม่ต้องกังวลเวลาที่กลับมาถึงบ้านแล้วจะต้องแก้ไขรูปทีละมากๆ แล้วล่ะนะ
ถ่ายภาพสัตว์และใช้งานช่วงซูม
ตอนขากลับผมแวะไปสวนสัตว์เปิดเขาเขียว เลยได้ลองใช้งานการ Zoom ของกล้องอย่างเต็มที่ ที่ช่วง 100 มม. ทำให้ได้ภาพสัตว์ที่อยู่ในระยะไกลได้ และแม้ว่าซูมจนสุดแล้วรู้สึกว่าไม่เพียงพอ ความละเอียดภาพขนาด 20.1 ล้านพิกเซล ก็ทำให้เรานำภาพมา Crop ต่อได้อีก
และนี่คือภาพ Crop 100% จากภาพบนครับ ชัดดีใช่มั้ย? ชัดจนรู้สึกได้เลยว่าเจ้าแมวตัวนี้มันกำลังมองเราเป็นเหมือน Snack ช่วงบ่ายยังไงยังงั้น
“นี่!!! แอบถ่ายตุ๋น ไม่บอกก่อนเลยเหรอออ !!!” โชคดีที่ไปแล้วหมูตุ๋น ฮิปโปแคระเซเลป กำลังกินมื้อเย็นพอดี พอซูมเข้าไปได้ ก็ได้เห็นสีหน้าชัดๆ แบบนี้แหละ
และแม้แต่สัตว์ตัวเล็กๆ เราก็สามารถถ่ายมันได้ด้วยช่วง 100 มม. นี้เหมือนกัน อาจจะไม่ได้คุณภาพเท่ากล้องตัวใหญ่ๆ แต่มันพกง่ายจนใส่กระเป๋ากางเกงไปได้แบบนี้ ก็มีเหตุผลเพียงพอที่จะพกไปเที่ยวด้วยกันแล้ว
บางจุดที่เป็นกระจกกั้น เราก็ซุมเข้าไปถ่ายได้ อีกเรื่องที่ดีคือ เราสามารถแตะที่จอ เลือกจุดที่ต้องการโฟกัสได้ทันทีก่อนถ่าย ทำให้ไม่พลาดวัตถุที่เราต้องการ แม้ว่าบางสถานการณ์กล้องอาจจะไม่ทันบ้างด้วยความที่เป็นกล้อง Compact สำหรับใช้งานทั่วไป แต่ขอโทษนะ นี่แค่ภาพนิ่งก็ได้ขนาดนี้แล้ว เรายังไม่ได้พูดถึงเรื่องวิดีโอที่ทำให้กล้องตัวนี้โดดเด่นกันเลย !!
สรุปส่วนของภาพนิ่ง กล้อง Canon PowerShot G7X Mark III
“ตั้งโหมด Auto แล้วเที่ยวให้สบายใจเถอะ ไม่ต้องคิดมาก” น่าจะเป็นนิยามที่ผมได้จากการใช้กล้องตัวนี้ถ่ายภาพ ซึ่งภาพตังอย่างที่ผมนำมาแทบทั้งหมดก็เอาออกมาจากกล้องตรงๆ ไม่ได้ทำอะไรมาก มีส่วนของภาพบุคคลเท่านั้น ที่มีการปรับแต่งแสงและ White Balance นิดหน่อยหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ยากจริงๆ แต่ก็นำมาปรับได้ง่ายกว่ากล้องสมัยก่อนมาก
แล้วถ้าอยากจะใช้แบบโปรก็แค่ปรับไปโหมด M สักหน่อยก็ได้ 🤣
จุดไฮไลท์ที่สุดสำหรับผมในกล้องตัวนี้คือการถ่ายวิดีโอและการนำไปทำ Live ได้ ซึ่งผมจะแยกไปเป็นคลิปต่างให้และทดลองให้ทุกคนได้ดูกันอีกทีครับ ส่วนใครที่สนใจกล้องตัวนี้ ลองกดเข้าไปดูลิงค์ตอนต้นของบทความกันได้เลยนะ
คอมเม้นและกดติดตามบทความนี้กันได้ที่
Facebook : Undervlog
Youtube : UnderVLogDotBlog