Deconstructed Content EP1 : เพราะมีเรื่องเล่า เราจึงได้มาเจอกัน

เรื่องเล่า

ใน EP แรกนี้ ความตั้งใจของผมคือการแอบนำเรื่องของแม่ยายมากระซิบให้ทุกคนฟัง

ก่อนจะเข้าสู่เรื่องนั้น ผมอยากถามทุกคนว่า ตอนนี้ทุกคนทำอาชีพอะไรกันอยู่บ้างครับ ในการทำงานของทุกคน มีเรื่องอะไรมาเล่าให้ฟังกันได้บ้าง เพราะการที่มีเรื่องเล่า มักจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เราได้รู้จักพูดคุยกันเสมอๆ

ที่ทุกคนได้มาเจอบทความนี้ก็เช่นกัน หากผมไม่มีเรื่องอะไรมาถ่ายทอด แม้ว่าผมจะมีตัวตนอยู่ในช่องทางใดๆ ก็จะไม่มีใครมาเจอ ฉะนั้นมันก็เกิดจากที่ผมมีเรื่องราวมาเล่าให้ทุกคนฟังใช่ไหมครับ

แม้ว่าคุณอาจจะหยุดอ่าน เพราะแค่อยากรู้ว่าผมจะนินทาแม่ยายผมแบบไหนก็เถอะ

ใน Deconstructed Content EP0 ผมได้เล่าถึงการทำอาหาร ที่เปลี่ยนจากจานธรรมดาๆ ให้กลายเป็นอาหารที่มีหลายองค์ประกอบ และเมื่อแยกอาหารออกเป็นหลายๆ ส่วนแล้ว ทำให้เราได้เห็นวัตถุดิบที่นำมาผสมเข้ามาเป็นจานนั้นได้ง่ายขึ้น

การแยกส่วน Content ให้เห็นภาพเรื่องราวเป็นส่วนๆ ก็ไม่แตกต่างอะไรกับการทำอาหารแบบ Deconstructed ที่สามารถทำให้ผู้ที่กำลังดู Content ของเรา ได้รับรู้เนื้อหาที่ถูกแบ่งย่อยออกมา และเข้าใจสิ่งที่เราพยายามจะถ่ายทอดได้มากขึ้น

เช่นเดียวกับผมในตอนที่ทำงานเป็นพนักงานขาย ผมคิดว่าไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการแยกสินค้าออกมาให้เห็นเป็นสองหัวข้อก่อนเสมอ นั่นคือ

ประโยชน์และความสามารถในการแก้ปัญหา

ทันทีที่เราหาประโยชน์และการแก้ปัญหาของสินค้านั้นเจอ เราจะสามารถนำไปเป็นหัวข้อการสนทนากับลูกค้าได้เยอะแยะมากมาย หรือบางเวลานอกจากได้ลูกค้าแล้ว เรายังจะได้เพื่อนเพิ่มขึ้นมาอีก

ถ้านึกไม่ออกว่าจะทำได้ยังไง ผมขอเริ่มต้นเล่าเรื่องการทำ Deconstructed Content เพื่อขายสินค้า โดยอาศัยประโยชน์และความสามารถในการแก้ปัญหาของแม่ยายผม ตามที่ได้เกริ่นกันไว้ในตอนแรกนะครับ

อาชีพของแม่ยายผมเป็นเกษตรกรโดยกำเนิด ทั้งชีวิตตั้งแต่เกิดมานั้น สิ่งที่แกชำนาญก็คือการปลูกพืชผักทั้งหลาย ไล่มาตั้งแต่สัปปะรด ข้าวโพด กล้วย มะม่วง ขนุน และช่วงหลังที่อายุมากขึ้น แกก็เริ่มที่จะสนใจการปลูกผักเพื่อสุขภาพ เลยนำเมล็ดพันธุ์ผักแปลกๆ ที่คนเมืองชอบกิน มาลองปลูกในพื้นที่ของแกบ้าง

เวลานั้น ผักที่แกเลือกมาปลูกก็คือ “เคล” ซึ่งสายรักสุขภาพน่าจะรู้จักกัน ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ผักเคลมีราคาสูงมาก ผมเคยไปนั่งกินผักเคลแบบ Smoothie ในร้านที่ปลูกเองก็ซัดไปแก้วละ 80 บาททีเดียว

นั่นคือการขายสิ่งที่มีมูลค่า ในที่ที่มีความต้องการ และรู้ถึงประโยชน์ของมันอยู่แล้ว เคลจึงสามารถขายได้แม้จะมีราคาสูง แถมยังมีการดัดแปลงเป็นเมนูต่างๆ เยอะแยะมากมาย

ทีนี้ ผมอยากเล่าให้ทุกคนได้เห็นภาพตลาดแถวบ้านแม่ยายผม ที่ได้นำสินค้าเกษตรต่างๆ ในไร่ของแกไปขายครับ

IMG 8565 edited scaled

ที่นี่คือตลาดที่มีชาวบ้านมารวมตัวกัน ซื้อของไปทำกับข้าวกินกันเองที่บ้าน สินค้าที่มาวางในตลาดมักจะเป็นของทั่วไปที่มีคนรู้จัก และเป็นส่วนประกอบในอาหารที่คนนำไปปรุงเสียส่วนใหญ่ พ่อค้าแม่ค้าก็เป็นชาวไร่ ชาวสวนด้วยกันเอง มีคนต่างถิ่นนำของเข้ามาขายบ้าง ผู้ซื้อของตลาดแห่งนี้ ก็เป็นชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่กันทั้งนั้น

เมื่อแม่ยายผมนำผักเคลมาขายในแผงของตลาด คิดว่าจะมีใครซื้อไหมครับ?

ทุกคนคงเดากันได้ไม่ยาก ในสองวันแรก ผักเคลของแม่แห้งคาแผงโดยไม่มีใครสนใจ ในวันต่อๆ มาพอมีคนมาถามบ้าง แม่ก็พยายามอธิบายว่ามันคืออะไร ให้กับทุกคนที่แวะมาที่แผงของแม่

แม่เล่าให้พวกผมฟังว่า นี่เป็นผักที่แม่ต้องเหนื่อยมากเวลาขาย เพราะกว่าจะมีคนซื้อหนึ่งคน แม่ต้องบอกให้รู้จักตั้งแต่ชื่อผัก ตามไปถึงสรรพคุณต่างๆ ของมัน แม้ว่าจะขายแค่กำละ 20 บาท ถูกกว่าในเมือง 4-5 เท่า แต่เมื่อไม่มีใครรู้ว่ามันคืออะไร ราคาจะตั้งไว้ถูกแค่ไหนก็ไม่มีความหมาย

คนที่เข้ามาแก้ปัญหาในตอนนั้นคือภรรยาของผม ที่ทำงานสายการตลาดเหมือนกัน และเมื่อรู้อยู่แล้วว่าคนที่น่าจะซื้อเป็นใคร วิธีการที่ง่ายที่สุดที่จะทำให้ขายเคลได้ อาจจะเป็นอะไรที่หลายคนฟังแล้วขำ

แต่ว่ามันให้ผลที่ดีอย่างไม่น่าเชื่อ

วันถัดมาที่หน้าแผงขายผักของแม่ มีป้ายกระดาษ A4 สองใบ พิมพ์ด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่พอที่คนอายุ 50 ปีจะสามารถอ่านได้โดยไม่ต้องใส่แว่นว่า

ผักเคล ต้านมะเร็ง”

นอกจากนั้นก็มีรายละเอียดเพิ่มเติมถัดลงมา ว่าในตัวเคลมีอะไรที่ดีต่อสุขภาพบ้าง เช่น ใยอาหารสูง ช่วยป้องกันโรคต่างๆ พร้อมชื่อโรค ต้านมะเร็งได้ยังไง และภาพของอาหารที่ทำจากเคลเมนูง่ายๆ สองสามเมนู ที่แค่อ่านชื่อคนทั่วไปก็สามารถทำได้ รวมถึงบอกว่าปลูกด้วยดินและปุ๋ยธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีเป็นตัวช่วย

จากนั้นผักเคลของแม่ก็ขายหมดทุกครั้งที่ออกแผงผัก และภายหลังพอมีอะไรที่น่าสนใจกว่า แม่ยายผมก็เปลี่ยนไปปลูกตัวนั้นแทน และเมื่อมีอะไรที่คิดว่าคนไม่รู้จัก ก็จะให้ภรรยาผมทำป้ายในลักษณะนี้ทุกครั้ง

จากเรื่องเล่านี้ ทุกคนเห็นอะไรกันบ้างครับ ก็แค่เขียนป้ายหน้าร้านขายของธรรมดาหรือเปล่า?

Content บนป้ายที่ภรรยาของผมทำให้แม่นั้น สะกิดให้คนมาสนใจผักที่ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีใครต้องการ หันมาซื้อจนหมดแผงได้ ผมเคยไปนั่งอยู่หน้าแผง ยังแปลกใจที่มีคนงอนแม่เพราะไม่เก็บผักเคลเอาไว้ให้ ส่วนคนที่ซื้อนั้น บางคนก็ซื้อไปทีละหลายกำ

ลองมาดูส่วนประกอบที่ถูกแยกออกมาจากตัวผักเคล บนป้ายที่ภรรยาผมทำกันดูนะครับ

มองหาประโยชน์ของเคลออกมาเป็นหัวข้อที่คนทั่วไปเข้าใจก่อน

  • มีวิตามินสูง
  • ทำให้เห็นว่าปรุงง่าย
  • ปลูกแบบไม่ใช้สารเคมี

มองความสามารถในการแก้ปัญหาออกมาเพิ่มเติม

  • ต้านมะเร็ง
  • ป้องกันโรค

และเมื่อใครๆ ก็กลัวมะเร็งกันทั้งนั้น หัวข้อที่ใหญ่ที่สุดและนำมาพาดหัวบนป้าย ก็คือการต้านมะเร็งครับ ชาวบ้านคนไหนที่เดินผ่าน ก็ต้องมีความสงสัยกันบ้างว่า เจ้าผักหน้าตาประหลาดนี่คืออะไร ทำไมมันต้านมะเร็งได้ เมื่อคนเริ่มสนใจ เวลาที่แม่อธิบายก็จะตั้งใจฟังมากขึ้น สุดท้ายคนก็มาตามหาซื้อผักเคลกับแม่จนไม่พอขาย ตามที่ผมได้บอกไป

ในป้ายกระดาษสองใบ มี Deconstructed Content ของผักที่ชื่อว่า “เคล” อยู่

และหากเราจะแยกมันให้ลึกไปมากกว่านั้น วิตามินอะไรให้ประโยชน์แบบไหน ใยอาหารคืออะไร เราจะมีเรื่องราวให้เล่าต่อได้แบบไม่รู้จบ ที่เมื่อนำมารวมกันแล้วก็จะได้ Content ของ “เคล” เหมือนเดิม

แค่ผักชนิดเดียวยังสามารถแตกออกมาเป็นเรื่องราวมาทำ Content ให้เล่าต่อได้เยอะขนาดนี้ ผมคิดว่าทุกคนก็น่าจะมีเรื่องเล่าที่สามารถนำมาเป็น Deconstructed Content ของตัวเองได้เหมือนกัน

ลองหยิบงานหรือสินค้าที่อยู่ในมือมาแยกองค์ประกอบแล้วจัดลงจานใหม่กันดูไหมครับ?

ในตอนหน้า ผมจะพาเดินออกจากตลาดแห่งนี้ ไปนั่งดื่มกาแฟในร้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง พร้อมกับเล่าเรื่องราวของร้านนี้ให้ทุกคนได้ฟังกันครับ

#undervlog #underdogmarketing #การตลาดออนไลน์

==============================

อย่าลืมกดติดตามในช่องทางเหล่านี้ สำหรับบทความและคลิปใหม่ๆ จากผมด้วยนะครับ ^^

เว็บไซต์ https://undervlog.blog​
Facebook Page https://fb.com/undervlog​
Youtube Channel https://www.youtube.com/undervlogdotblog​

ติดต่องานได้ที่อีเมล์ [email protected]