เลือกไมค์ใหม่ EP.2 Dynamic กับ Condenser สำหรับการบันทึกเสียงหน้าคอมพิวเตอร์

ใครที่เข้าสู่วงการในการทำ Content และเริ่มรู้จักกับไมค์กันแล้วละก็ หลายคนจะต้องติดอยู่กับชื่อไมค์สองประเภท คือ Dynamic กับ Condenser แล้วก็ไม่รู้ว่าจะเลือกไมค์แบบไหนมาใช้งานดี อันไหนกันแน่ที่เหมาะกับเรา พอตามดูรีวิว คนนั้นก็ใช้แล้วเสียงดี คนนี้ก็ใช้แล้วเสียงดี แต่พอซื้อมาแล้ว ทำไมมันไม่ได้อย่างเค้าใช้ก็ไม่รู้

ผมเองก็เป็นแบบที่บอกไว้ข้างต้นนี่แหละครับ

แรกๆ ผมก็ไปหาไมค์ Condenser มาใช้งาน ต่อเข้ากับ Audio Mixer เพื่อใช้ Phantom Power จ่ายไฟให้ไมค์ แล้วต่อผ่าน USB Sound Card อีกทีหนึ่ง เสียงที่ได้นั้นดีมากๆ มากซะจนอะไรดังนิดดังหน่อยในห้อง เสียงก็เข้าไมค์มาทั้งหมด

จากนั้นผมก็ได้ไมค์ Dynamic มาใช้งานบ้าง ลงทุนซื้อ USB Audio Interface มาใหม่ โอ้โห ตัวนี้เสียงดี เสียงรบกวนจากข้างนอกแทบไม่มีเลย ใครจะทำอะไรเสียงดัง เสียงก็ไม่เข้า แต่ว่า ผมจะต้องเอาปากอยู่ใกล้ๆ ไมค์ตลอดเวลา หรือไม่ก็ปรับไมค์ให้ชิดกับปากเข้าไป ถ้าเผลอออกห่างสักหน่อย เสียงก็จะหายไปเลย

ถ้าตัวนั้นก็ไม่ได้ ตัวนี้ก็ใช้ลำบาก งั้นไมค์ตัวไหนถึงจะเหมาะกับผมกันแน่?

ผมเปลี่ยนจากไมค์ตั้งโต๊ะเป็นไมค์ Shotgun แล้วก็เปลี่ยนมาใช้ไมค์กระดุมสลับไปมากับไมค์อื่นๆ ที่มี ซึ่ง ณ วันนี้ หลายตัวก็ให้คนอื่นไปแล้วบ้าง ทิ้งไปบ้าง เหลือแค่ตัวที่ยังใช้ได้และ “เหมาะกับสภาพการใช้งานของผม” อยู่ที่ห้องในตอนนี้ ซึ่งก็ยังมีอยู่ทั้งสองแบบคือ Dynamic และ Condenser ตามหัวชื่อเรื่องนั่นเอง ฉะนั้น ลองมาทำความรู้จักกับไมค์สองประเภทนี้แบบโดยย่อกันก่อนนะครับ

ไมค์แบบ Dynamic

ShureDynamic

เป็นไมค์ที่แม้แต่คนที่ไม่รู้จักไมค์ก็น่าจะพอได้เห็นกันบ้าง ที่น่าจะเจอได้บ่อยที่สุดก็คือไมค์บนเวทีของพิธีกรตามงานต่างๆ ไงครับ และด้วยคุณสมบัติของตัวมันนี่เอง ทำให้ไมค์ชนิดนี้เหมาะกับสภาพแวดล้อมการใช้งานในสถานที่ที่มีเสียงรบกวนได้ค่อนข้างดี

Dynamic edited
ภาพการทำงานของไมค์แบบ Dynamic จาก tascam.com

ในภาพข้างต้นนี้คือการทำงานภายในไมค์ ซึ่งตรงเส้นสีฟ้า แสดงส่วนที่เอาไว้ใช้รับแรงสะเทือนของเสียงที่เรียกว่า “Diaphragm” เมื่อเจ้าแผ่นนี้มีการสะเทือน มันก็จะไปขยับแท่งแม่เหล็กที่อยู่ตรงกลางระหว่างขดลวด เกิดเป็นแรงดันไฟฟ้าส่งไปตามสายสัญญานเข้าเครื่องเสียง และขยายออกมาเป็นเสียงให้เราได้ยินผ่านทางลำโพงหรือเข้าเครื่องบันทึกของเรา ไมค์แบบ Dynamic นี้ไม่ต้องการใช้ไฟเลี้ยง แต่ความไวของเสียงที่ไมค์ชนิดนี้จะไม่มากเท่าไมค์ Condenser เลยนิยมใช้ในการพูดบนเวที หรือที่ที่มีเสียงรบกวนจากสภาพแวดล้อม และด้วยความที่ความไวเสียงเค้าค่อนข้างน้อย เราจึงต้องจ่อปากพูดใกล้ๆ แบบเดียวกับนักร้องหรือพิธีกรบนเวทีนั่นเองครับ

RodeProcaster
ภาพนี้เป็นสมัยที่ผมใช้ไมค์ไดนามิคบันทึกเสียงที่ออฟฟิศ

เพราะฉะนั้น หากห้องที่ใช้ทำงานมีเสียงรบกวนเยอะ ไม่ได้ต้องการช่วงเสียงที่กว้างและเก็บรายละเอียดได้มากและสามารถตั้งไมค์ไว้ใกล้ปากเราได้ ไมค์แบบ Dynamic ก็น่าจะเหมาะกับเรานั่นเอง

ไมค์แบบ Condenser

K678 USB microphone computer connection 1024x1024 edited

ผมมีปัญหาอย่างหนึ่งกับไมค์ Dynamic ก็คือ ผมจะต้องคอยจ่อปากเข้าไปที่ไมค์ตลอดเวลา และการเร่งไมค์ให้ดังขึ้นเพื่อที่จะอยู่ห่างไมค์ได้ ก็กลายเป็นการเร่งสัญญานรบกวนเข้าไปอีก และต่อมาเมื่อผมอยากได้รายละเอียดเสียงที่มากขึ้น อยากได้คุณภาพเสียงแบบที่คนทำคลิปมืออาชีพเค้าใช้กัน ผมก็เริ่มตามหาไมค์อีกชนิดหนึ่งก็คือ ไมค์แบบ Condenser ที่สามารถเก็บโทนเสียงของเราได้กว้างกว่าไมค์แบบ Dynamic เจ้าไมค์แบบนี้เลยทำให้ผมได้ลองซื้อ ลองใช้ และทำให้ได้เจอปัญหากับการแก้ไขหลายๆ อย่างด้วยไปในตัว ก่อนที่จะเล่าให้ฟังเรื่องปัญหา เรามารู้จักกับภายในของ Condenser กันบ้าง

Condenser
ภาพการทำงานของไมค์แบบ Condenser จาก tascam.com

ถ้ามองที่เส้นสีฟ้าเช่นเดียวกันกับภาพก่อนหน้า นี่คือแผ่น Diaphragm ของไมค์ Condencer ซึ่งเมื่อรับเสียงเข้ามา การสั่นสะเทือน ตัว Diaphragm จะขยับและมีความเปลี่ยนแปลงระยะห่างจาก Back Plate ตามภาพ ในไมค์แบบนี้จะไม่มีขดลวดเหมือนกับแบบ Dynamic แต่จะมีการจ่ายไฟฟ้ากระแสตรงเข้าไปตั้งแต่ 9-48V หรือถ้าใครใช้พวก Audio Interface มันจะมีปุ่มที่ชื่อว่า Phantom Power อยู่ซึ่งก็คือตัวจ่ายไฟให้ไมค์นั่นเอง หากไม่มีการจ่ายไฟ ไมค์ชนิดนี้จะแทบไม่มีเสียง เนื่องจากเมื่อ Diaphagm ขยับ ก็จะทำให้ค่าแรงดันไฟฟ้าในไมค์เปลี่ยนและส่งเป็นสัญญานไฟฟ้าที่จะแปลงกลับมาเป็นเสียงให้เราได้อีกทีหนึ่ง

ตัวแผ่นรับเสียงหรือ Diaphagm ของไมค์แบบ Condencer นั้นจะมีความบางมากกว่า และการที่มันรับแรงสะเทือนของเสียงได้ดีกว่า ทำให้สามารถรับรายละเอียดของเสียงได้ดีกว่าไมค์แบบ Dynamic และนั่นเองครับที่ทำให้ไมค์ชนิดนี้ มีเสียงรบกสนแทรกเข้าได้ง่ายมากเพราะมีความไวสูง การทำงานจึงต้องทำในห้องที่ค่อนข้างเงียบ และปรับในเรื่องของเสียงสะท้อนในห้องแล้ว เราจึงจะสามารถใช้ไมค์ตัวนี้ได้โดยไร้เสียงรบกวน

ไมค์ Dynamic กับ Condenser ต้องใช้ห้องบันทึกเสียงแตกต่างกัน
ภาพตอนไปทดสอบไมค์ Fifine K678 ที่เป็นไมค์แบบ Condensor ในห้องบันทึกเสียงของร้าน ilovetogo

เมื่อผมใช้ไมค์ Condenser หลายๆ ตัว ก่อนหน้า เวลาที่ผมจะทำคลิปหรือบันทึกเสียง ผมจะต้องรอให้ห้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เงียบมากๆ รอให้แฟนอาบน้ำเสร็จ เข้านอนแล้ว ปิดพัดลมให้หมด และต้องดึกพอที่รถยนต์ที่จะมาจอดใต้คอนโดเข้ามาเกือบครบหมดแล้ว ผมจึงจะเริ่มบันทึกเสียงได้ แต่นั่นก็ไม่วายที่จะต้องมาแก้เสียงรบกวนของคอมเพลสเซอร์แอร์ที่จะเข้ามาในไมค์ตลอดเวลาอยู่ดี

จนกระทั่งผมได้รู้เรื่อง การตอบสนองต่อความถี่เสียงของไมค์ หรือ Frequency Response มาจากคลิปของพี่หาว 2how.com เลยได้รู้ว่า ไมค์ยิ่งดียิ่งใช้ยาก เพราะมันจะสามารถเก็บรายละเอียดของทุกเสียงที่เกิดขึ้นรอบตัวเราได้ แต่หากเราเลือกเฉพาะช่วงความถี่เสียงที่เราต้องการใช้งาน มันก็จะสามารถใช้ไมค์ตัวนั้นโดยที่วุ่นวายกับการ Process เสียงน้อยลงไป

ผมเลยกรองความต้องการของตัวเองที่จะนำไมค์มาใช้งานให้ได้มากที่สุดก่อน เลยได้มาเป็นข้อๆ ตามนี้ครับ

  • เน้นการพูดบันทึกเสียงโดยนั่งที่โต๊ะ
  • เก็บรายละเอียดเสียงได้ดีประมาณหนึ่ง
  • ไมค์ต้องไม่อยู่ใกล้ปากตลอดเวลา ต้องขยับตัวหันซ้ายขวาได้บ้าง
  • ต้องโฟกัสกับเสียงพูดได้ดี แต่ไม่ไวต่อเสียงความถี่อื่นๆ
  • ต่อและใช้งานได้ง่าย ไม่ต้องผ่านอุปกรณ์เยอะแยะ

ตัวอย่างประบการณ์เมื่อผมต้องเลือกระหว่าง Dynamic กับ Condenser

เมื่อได้ความต้องการดังนี้แล้ว ผมเลยเปรียบเทียบคุณสมบัติของไมค์ทั้งสองประเภทตามความเข้าใจที่หาข้อมูลมาก็ได้ตารางตามนี้ครับ

ไมค์แบบ Dynamicไมค์แบบ Condenser
ตัดเสียงรบกวนได้ดีไวต่อเสียงเก็บรายละเอียดเสียงได้ดี
ไม่ต้องใช้ไฟเลี้ยงในการทำงานต้องมีการให้ไฟเลี้ยงเพื่อทำงาน
ต่อคอมพิวเตอร์โดยตรงได้
แต่หากต้องการคุณภาพเสียงที่ดี
ต้องต่อผ่าน USB Audio Interface
ต้องผ่าน USB Audio Interface
เพื่อจ่ายไฟเลี้ยงและต่อเข้า PC
แต่ก็มีไมค์แบบ USB ที่ต่อตรงได้เลย
ไมค์ต้องอยู่ใกล้ปาก ขยับไปมาได้ไม่มาก
เสียงจะวูบวาบ
ไมค์ควรอยู่ใกล้ปาก
แต่อยู่ห่างเสียงก็ยังเข้าได้บ้าง

ฉะนั้นเมื่อได้ดังนี้แล้ว ผมเลยคิดว่าไมค์แบบ Condenser ที่เป็นแบบ USB ที่มีช่วงการตอบสนองต่อความถี่เสียงที่เหมาะกับเสียงพูด ให้มีการต่อกับคอมพิวเตอร์เป็นแบบ USB และมีรูปแบบการรับเสียงแบบ “Cardioid” น่าจะเหมาะสำหรับการทำงานของผมมาก

สำหรับรูปแบบการรับเสียงชนิดต่างๆ เดี๋ยวผมจะมาลองเล่าให้ฟังตามความเข้าใจในโอกาสต่อไปนะครับ

หากใครได้ดูคลิปในช่วงหลังๆ ของผมนี้ ผมจะมีความยืดหยุ่นในการบันทึกเพิ่มขึ้นมาก เพราะผมสามารถบันทึกได้แม้จังหวะที่คอมเพลสเซอร์แอร์ทำงาน และแฟนกำลังอาบน้ำ อาจจะมีเสียงเข้ามากวนบ้าง ก็ไม่มากเท่าแต่ก่อน มีรายละเอียดของเนื้อเสียงที่ชัดเจน ฟังเข้าใจไม่อู้อี้ แม้ว่าเสียงจะไม่นุ่มเหมือนไมค์ตัวก่อนๆ ที่ผมได้เคยใช้ แต่มันทำให้ผมทำงานสะดวกขึ้นมาก

ขอโชว์ของนิดหน่อยละกัน

Fifine K670B
ไมค์ Fifine K670B ที่เป็นไมค์แบบ USB Condenser

ไมค์ตัวที่ผมใช้ ณ วันที่พิมพ์บทความนี้คือ Fifine รุ่น K670B ครับ เป็นไมค์ Condenser ที่สามารถต่อกับคอมพิวเตอร์ได้ผ่านสาย USB และอาศัยไฟเลี้ยงจากสาย USB ด้วย จึงไม่จำเป็นต้องมี Phantom Power ให้กับไมค์แยกต่างหาก เมื่อเสียบสายสามารถใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องลง Driver แต่อย่างใด เลยตอบโจทย์ในเรื่องของการต่อเพื่อบันทึกเสียงลงคอมพิวเตอร์ได้ลงตัว

ด้วยการรับเสียงในแบบ Cardioid ผมหันทิศทางของไมค์หันหลังให้ห้องน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เสียงรบกวนจากการอาบน้ำน้อยลง และการที่ไมค์มีช่วงการตอบสนองต่อความถี่อยู่ในระหว่าง 50 – 15000Hz ทำให้เสียงคอมเพลสเซอร์แอร์ที่มีความถี่เสียงต่ำ (เสียงหึ่มๆ เวลาคอมแอร์ทำงาน) เข้าน้อยลงมาก เมื่อเทียบกับไมค์ตัวอื่นๆ อย่าง Samson Go Mic หรือ BM800 ที่ผมเคยใช้มาก่อนหน้าอย่างชัดเจน

Fifine K670B ที่ใช้งานจริง
Fifine K670B ที่ผมเซ็ตใช้งานจริงที่ห้อง

ถ้าไปค้นสเปคดูจะเห็นว่า มันไม่ได้มีการตอบสนองต่อเสียงที่กว้างเหมือนไมค์ที่ราคาแพงกว่าในยี่ห้อเดียวกันอย่าง Fifine K678 ซึ่งผมเองก็ได้ใช้มาแล้วในตอนถ่ายคลิปเรื่อง Voicemeeter Banana ใครอยากลองฟังก็สามารถคลิกตามไปดูได้ เมื่อฟังแล้วจะรู้สึกว่ามันมีเสียงที่นุ่มและมีความทุ้มมากกว่าเพราะช่วงการตอบสนองต่อความถี่เสียงกว้างถึง 40 – 20000hz แต่ด้วยความที่ช่วงมันกว้างขนาดนั้น และมีความไวเสียงที่สูงกว่า ทำให้ผมต้องทำห้องให้เงียบที่สุดก่อนเท่านั้น จึงจะอัดคลิปได้

เจ้าไมค์ Fifine K670B ที่ราคาถูกกว่า จึงตอบโจทย์การใช้งานที่ผมต้องการได้ครบทุกข้อนั่นเองครับ~

มาถึงตรงนี้ จะเลือกไมค์ชนิดไหนดี

ผมคงตอบแบบฟันธงให้ทุกคนไม่ได้เพราะสภาพแวดล้อมการทำงาน รูปแบบการใช้งาน รวมไปถึงน้ำเสียงของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน และในตอนนี้นั้น เรายังไม่ได้พูดถึงรูปแบบการรับเสียงของไมค์ และชนิดของไมค์ที่แบ่งตามลักษณะการใช้งานกันเลย

แต่ในเบื้องต้น เมื่อได้รู้ถึงเรื่องการตอบสนองต่อความถี่เสียงที่ผมเขียนไว้ในตอนแรก และความแตกต่างระหว่าง Dynamic กับ Condenser กันไปแล้ว ก็น่าจะพอเป็นประโยชน์ให้ทุกคนได้บ้างนะครับ

ปล.บทความนี้ผมเขียนขึ้นมาจากการอ่าน การลองใช้ ไปตามความเข้าใจ หากมีผู้รู้ท่านใดที่พบว่าข้อมูลส่วนไหนผิดพลาด สามารถแจ้งผมได้ที่หน้าเพจ Undervlog ได้นะครับ จะเป็นพระคุณมากๆ เลย

และสำหรับตอนถัดไป ไว้มาอ่านในเรื่องของชนิดไมค์ที่แบ่งประเภทตามลักษณะการใช้งาน ทั้งไมค์มือถือ ไมค์ Wireless ไมค์แบบ Shotgun และไมค์ตั้งโต๊ะแบบที่ได้กล่าวไว้ในบทความนี้กันบ้างนะครับ

ขอบคุณที่อ่านจนจบ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า สำหรับคนที่สนใจในเนื้อหาการทำ Live และ Content แนวนี้ สามารถติดตามเพิ่มเติมกันได้ที่ facebook.com/undervlog และ Youtube ที่ช่อง Undervlog กันได้นะครับ