เมื่อเริ่มต้นทำคลิป ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ค่อยๆ ปรับปรุงอุปกรณ์มาเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป บางชิ้นผมก็ใช้ตั้งแต่เริ่มจนปัจจุบัน บางชิ้นก็ต้องเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ แต่เขื่อไหมครับว่า อุปกรณ์ที่ผมเปลี่ยนเยอะที่สุดตั้งแต่ทำคลิปมา นั่นก็คือ
ไมโครโฟนครับ
ในคลิปแรกที่ผมทำเรื่องสอนการ Live ด้วย OBS Studio นั้น ผมเริ่มจากการใช้ BM800 ไมค์ที่คนเริ่มต้นหลายคนใช้กัน ตัวไมค์ราคาไม่กี่ร้อยบาท แต่สุดท้ายผมต้องซื้อ Audio Mixer + USB Sound card เพิ่มภายหลัง กว่าเสียงจะใช้ได้ก็หมดไปหลายพัน
จากตรงนั้น ผมเปลี่ยนไมค์มาใช้ Dynamic Mic + Audio Interface , Shotgun Mic และเปลี่ยนมาใช้ USB Mic อีกหลายตัวหลายยี่ห้อ แล้วก็พบว่า ไมค์ที่เหมาะกับการทำงานของผมที่สุด อาจจะไม่ใช่ไมค์ประสิทธิภาพสูงที่สุด
เนื่องจากผมทำงานในห้องที่เป็นคอนโด หากใช้ไมค์ที่มีความไวเสียงสูง รับเสียงช่วงกว้างๆ เสียงคอมเพลสเซอร์แอร์ เสียงตู้เย็น เสียงปั๊มน้ำจากดาดฟ้า จะเข้ามาได้ง่ายมาก
หลังจากได้ไมค์จากการเปย์มาเยอะแยะแบบลองผิดลองถูก ผมก็ได้พบกับคลิปที่ให้ความกระจ่างในการอ่านค่าและการเลือกไมค์จากพี่หาวคลิปนี้ครับ
และจากนั้นผมก็ได้รับลิงค์ที่อธิบายการอ่านค่า Frequency Response หรือที่เรียกว่าค่าการตอบสนองต่อความถี่เสียงของไมค์จากพี่หาวมาอีกที วันนี้ผมเลยจะนำบทความนั้นมาแปลและสรุปในบทความนี้ให้ทุกคนได้อ่านกันครับ
อะไรคือการตอบสนองต่อความถี่เสียง (Frequency Response)
เราน่าจะเคยเรียนกันมาในห้องเรียนสมัยมัธยมกันบ้างว่า หูของมนุษย์นั้นสามารถรับฟังเสียงได้ที่ช่วงความถี่ 20Hz -20,000Hz หูฟังหลายๆ รุ่นจึงจะแสดงตัวเลขใกล้เคียงกันนี้ในสเปค และเช่นเดียวกันกับไมค์ ตัวเลขนี้สามารถนำมาลงกราฟ เพื่อให้เราเห็นได้เช่นกันว่าไมค์ตัวนี้ มีการตอบสนองต่อเสียงในความถี่ช่วงไหนได้ดีหรือไม่ดี หรือมีการปรับแต่งการรับเสียงในความถี่เสียงช่วงไหน ให้มีลักษณะเฉพาะของเสียงจากไมค์ตัวนั้นบ้าง
ไมค์ตัวหนึ่ง อาจจะสามารถรับเสียงในช่วงความถี่ที่เป็นเสียงพูดของมนุษย์ได้ดี
ไมค์อีกตัวหนี่ง อาจจะรับเสียงต่ำๆ ได้ดีกว่า
เช่นเดียวกันกับไมค์บางตัวที่เสียงนกร้องไกลๆ ก็ยังสามารถดึงเสียงเข้ามาให้เราได้ยินได้
เพื่อที่จะให้รู้ว่าไมค์ตัวไหน มีการตอบสนองต่อความถี่ที่น่าจะเหมาะสมกับการใช้งานของเรา เราจึงจะต้องรู้กันก่อนว่าความถี่เสียงที่ช่วงไหน เทียบได้กับเสียงของอะไรในชีวิตประจำวันของเราครับ
เลือกไมค์ให้เหมาะกับความถี่เสียงแต่ละช่วงที่เราจะนำมาใช้
ความถี่เสียงแต่ละช่วงที่ไมค์สามารถตอบสนองได้ สามารถเทียบให้เข้าใจง่ายๆ ได้แบบนี้ครับ
ต่ำกว่า 40Hz เทียบได้กับเสียงของ Sub Base เป็นเสียงจาก Kick Drum หรือกลองกระเดื่อง เสียงมีความทุ่มต่ำ ซึ่งจะมีแค่เสียงเครื่องดนตรีบางชนิดที่มีเสียงโทนนี้
40Hz – 200Hz เทียบได้กับความถี่เสียง Base หากเราฟังเสียงจากเบส 4 สาย ความถี่เสียงที่ออกมานั้นจะอยู่ประมาณ 40Hz เสียงที่ต่ำสุดที่มาจากกีต้าร์จะอยู่ที่ 80Hz สำหรับเสียงมนุษย์นั้น โทนเสียงที่ต่ำที่สุดของนักร้องชาย สามารถไปได้ถึง 100Hz แต่โดยทั่วไปนั้น จะอยู่ที่ราวๆ 150Hz
200Hz-500Hz เสียงระดับกลางค่อนไปทางต่ำ (Low-Mid) เป็นช่วงเสียงที่เป็นเนื้อเสียงของเครื่องดนตรีทั่วไป เสียงพูดของมนุษย์จะมีพลังและฟังได้ชัดเจนที่สุดที่ความถี่นี้
500Hz-3000Hz เสียงระดับกลาง (Mid Range) เป็นช่วงโทนที่แสดงเอกลักษณ์หรือคาแรคเตอร์ของเสียง เพราะมันคือช่วงของเสียงที่หูมนุษย์จะมีความตอบสนองได้ดีที่สุดแม้จะเป็นรายละเอียดเล็กๆ สัญญานเสียงที่ได้ยินจากโทรศัพท์จะต่ำกว่าหรือสูงกว่าเสียงในช่วงนี้เล็กน้อย ซึ่งหากว่าเรารับสายที่โทรเข้ามา เราจะสามารถระบุตัวตนของเจ้าของเสียงได้จากช่วงโทนเสียงนี้นั่นเอง
3000Hz-7000Hz เสียงระดับกลางแหลม (Presence) เป็นช่วงโทนที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในความหมายของคำ มันคือช่วงเสียงที่ถูกใช้เวลาพูดพยัญชนะต่างๆ
7000Hz-14000Hz เสียงแหลม (Treble) ในเสียงช่วงนี้จะให้ความรู้สึกถึงความใส แต่การที่มีเสียงในช่วงนี้ดังมากเกินไปจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกถึงความรุนแรงและเสียสมาธิในการฟังได้ง่าย ตัวอย่างของเสียงในช่วงนี้เช่นช่วงท้ายของการออกเสียงตัว S และเสียงจากเครื่องสายบางประเภท
14000Hz ขึ้นไป เสียงแหลมช่วงปลาย (Air Band) เสียงช่วงนี้จะให้ความรู้สึก “แพง” จากอุปกรณืบันทึกและเล่นเสียงในระดับ Super-hi-fi ให้ความรู้สึกโปร่งสบาย แต่ก็ไม่ได้มีเครื่องดนตรีที่มีเสียงในช่วงโทนนี้มากนัก
สำหรับการอธิบายช่วงความถี่เสียง ผมแปลมาจากบทความในลิงค์นี้ครับ
https://www.neumann.com/homestudio/en/how-does-frequency-response-relate-to-sound
มาลองดูค่า Frequency Response ของไมค์
เมื่อเรารู้แล้วว่าความถี่เสียงในช่วงไหนมาจากเสียงในลักษณะใดบ้าง เราก็นำค่า Frequency Response ของไมค์ มาเทียบดูกันดีกว่าว่า ไมค์ที่เรากำลังดูหรือใช้งานอยู่ มีการตอบสนองต่อเสียงในลักษณะไหนบ้าง
ไมค์ตัวนี้ระบุในสเปคว่าสามารถรับเสียงได้ดีที่ช่วงความถี่ 50Hz-15000Hz ซึ่งการตอบสนองต่อความถี่เป็นดังกราฟในภาพข้างต้น ซึ่งจะทำให้เราได้ทราบว่า
ช่วง 20Hz-50Hz ไมค์จะไม่มีการรับเสียงเข้าไป
ช่วง 50Hz-100Hz ไมค์มีการปรับลดความดังในช่วงนี้ลง
ช่วง 100Hz – 5000Hz ไมค์มีการรับเสียงแบบ Flat ไม่มีการปรับลักษณะเสียง ซึ่งเป็นช่วงเสียงการพูดของเสียงมนุษย์ในภาพรวม
ช่วง 5000Hz-15000Hz ไมค์มีการเร่งช่วงโทนเสียงนี้ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มความใส ความชัดในการออกเสียงพยัญชนะ
ช่วง 15000Hz ขึ้นไปจะเสียงจะถูกปรับให้ลดลง
ฉะนั้น ในกรณีที่สเปคดังกล่าวสามารถเชื่อถือได้ ไมค์ตัวนี้จะช่วยตัดเสียงรบกวนในโทนเบสได้ เพราะมีการปรับลดเสียงในโทน 50Hz-100Hz และไม่รับเสียงช่วงที่ต่ำกว่านั้น
ซึ่งหากย้อนกลับไปที่ผมได้พูดถึงตอนต้น ห้องของผมนั้นจะมีเสียงรบกวนจากคอมเพลสเซอร์แอร์ที่มีเสียงในช่วงความถี่ต่ำ ไมค์ตัวนี้จะช่วยตัดเสียงหึ่มๆ จากคอมเพลสเซอร์แอร์ไปได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งช่วยให้เรานำไปปรับต่อได้ง่ายขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน หากนำมาร้องเพลง เสียงของเราช่วงโทนทุ้มต่ำก็จะบางลงไป จะต้องหาไมค์ที่มีการตอบสนองต่อความถี่เสียงได้กว้างกว่านี้
จากการอนุมานของผม ไมค์ตัวนี้จึงอาจจะเหมาะกับการนำมานั่งพูดคุย บรรยาย บันทึกเสียงที่ต้องการความชัดเจน เข้าใจในความหมายของคำได้ทันที แต่ไม่เหมาะกับการนำมาร้องเพลงนั่นเอง
เมื่อเราสามารถดูได้ว่า สเปคของไมค์ในส่วนของ Frequency Response มีการตอบสนองได้ดีในช่วงใดบ้าง เราก็จะสามารถเลือกไมค์ได้เหมาะกับเราได้ง่ายขึ้น แต่สุดท้ายแล้ว สภาพแวดล้อมที่บันทึกและอุปกรณ์ที่ต่อพ่วงกับไมค์ ก็จะมีผลต่อคุณภาพของเสียงในตอนท้ายได้ด้วยเช่นกันนะครับ
หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกคนอ่านสเปคไมค์ และเลือกไมค์ได้ตรงตามความต้องการมากขึ้นนะครับ สำหรับตอนหน้า เมื่อเรารู้แล้วว่าการตอบสนองต่อความถี่เสียงหรือ Frequency Reponse ของไมค์เป็นยังไงกันแล้ว ผมจะย้อนกลับไปพูดถึงเรื่องชนิดของไมค์ที่เหมาะสำหรับงานแต่ละประเภทกันบ้างครับ
ชอบบทความและเนื้อหานี้ อย่าลืมกดติดตามได้ทั้งทางเพจ facebook.com/undervlog และ Youtube ที่ช่อง Undervlog กันได้นะครับ