เซ็ตระบบ Live รายการแนวพูดคุยด้วยกล้อง DSLR/Mirrorless

ตอนนี้การ Live เป็นเหมือนรูปแบบสื่อสารช่องทางหนึ่งสำหรับคนทำ Content ไปแล้ว เพราะสามารถโต้ตอบพูดคุยกับผู้ชมที่ติดตามเราได้ทันที หลายคนเริ่มเซ็ตระบบ Live จาก Smartphone และการใช้ Webcam ซึ่งคุณภาพก็พอใช้ได้ตามประสิทธิภาพของอุปกรณ์

แต่สุดท้ายหากต้องการคุณภาพที่สูงขึ้น ควบคุมความสว่างและสีได้มากขึ้น และได้มิติเช่นเดียวกับการถ่ายวิดีโอบนกล้องตัวใหญ่ รวมถึงคุณภาพเสียงที่ชัดเจน มีความทุ้มแหลมตามที่เราต้องการ นั่นแหละว่าถึงเวลาที่เราจะต้องอัพเกรดอุปกรณ์ของเรากันแล้วล่ะครับ

สำหรับบทความนี้ ระบบที่ผมอยากจะนำเสนอ เป็นการเซ็ตระบบ Live สำหรับคนที่ต้องการจัดรายการแนวพูดคุย แนวฉายเดี่ยวหรือพูดคุยแบบออนไลน์ระหว่างคู่สนทนาที่อยู่ต่างที่กันนะครับ สำหรับการพูดคุยหลายๆ คนในที่เดียวกัน จะเป็นระบบที่แตกต่างออกไปจากนี้พอสมควร

108527518 346319606777611 5398886239573804001 o

จากภาพนี้ เป็นระบบที่ผมเซ็ตเอาไว้ที่ห้อง เพื่อ Live พูดคุยกับผู้ติดตาม หรือพูดคุยกับแขกรับเชิญผ่านทาง Streamyard ครับ เป็นรูปแบบที่ได้คุณภาพที่ค่อนข้างดี อุปกรณ์น้อย ใช้เวลาติดตั้งระบบและทำความความเข้าใจในการใช้งานไม่นาน ตัวอย่างการไลฟ์ด้วยระบบแบบนี้ ตามคลิปด้านล่างนี้เลยครับ

ตัวอย่างการ Live คนเดียวด้วยระบบแบบนี้
ตัวอย่างการ Live สองคนด้วยระบบแบบนี้

เมื่อเห็นตัวอย่างตามคลิปทั้งสองนี้แล้ว หากรู้แล้วว่านี้คือรูปแบบรายการที่เรากำลังต้องการ ต่อไปเราต้องมาดูในเรื่องของอุปกรณ์ที่เราจำเป็นต้องมีในการทำ Live แบบนี้ครับ

อุปกรณ์ที่จำเป็น

และด้านล่างนี้คือรายการอุปกรณ์เบื้องต้นสำหรับการจัด Live รายการพูดคุยตามตัวอย่างครับ

เซ็ตระบบ Live

1.คอมพิวเตอร์ที่มีกำลังมากพอ

ก่อนที่จะไปดูอุปกรณ์อื่นๆ เราจำเป็นจะต้องรู้กำลังของเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราก่อนเป็นลำดับแรกครับ เพราะความคมชัด ความเสถียร การต่ออุปกรณ์เพิ่มคุณภาพให้กับงาน รวมถึงลูกเล่นต่างๆ ที่เราจะนำมาใส่ใน Live ของเรา จะสามารถทำได้มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราก่อน

คอมพิวเตอร์ที่เหมาะสำหรับการทำ Live โดยหลักๆ แล้วหากไม่ได้มีการใส่ Title / Logo จำนวนมาก ไม่มีไฟล์ Media ที่ต้องโหลดใส่เข้าไปเยอะๆ เน้นภาพและเสียงเป็นหลัก อย่างน้อยๆ ควรจะมีสเปคเบื้องต้นตามนี้ครับ

สเปคสำหรับ PC
– Intel Core i5 Gen4 ขึ้นไป / AMD Ryzen 5
– Ram 8 GB และจะทำงานได้หลากหลายขึ้นถ้าได้ 16 GB ขึ้นไป
– Intel / NVIDIA GPU (AMD GPU ก็ใช้ได้ แต่ ณ วันที่ผมทำบทความ ภาพที่ได้มายังไม่คมชัดเท่าสองตัวที่บอกครับ)
– SSD 500 GB ขึ้นไป กรณีต้องการบันทึก
– Port USB 3.0 ขึ้นไป
– Windows 10 64 bit

สเปคสำหรับ MAC
– Intel i5 Gen 4 ขึ้นไป
– RAM 8 GB ขึ้นไป
– SSD 500 GB ขึ้นไป กรณีต้องการบันทึก
– ตัวแปลงเพื่อใช้ Port USB 3.0 ขึ้นไป
– MacOS 10 ขึ้นไป

หรือหากใครอยากได้การระบุที่ละเอียดกว่านี้ ผมมีทำแบบทดสอบเอาไว้ให้ในบทความเรื่อง คอมแบบไหน Live แล้ว Work ให้ทุกคนสามารถไปลองทำกันได้ครับ จะได้รู้เบื้องต้นว่า สเปคคอมพิวเตอร์ที่เรากำลังใช้งานอยู่ สามารถทำ Live ได้ดีแค่ไหน

หากว่าอยู่ในระดับที่ Live ไม่ได้ เราจำเป็นจะต้องอัพเกรด หรือหาเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่มาใช้งานแทน เคยมีคนถามผมว่า สเปคไม่ถึง ทำได้ไหม? ทำได้แต่ไม่ลื่นไหล และเสถียรเท่าเครื่องที่มีกำลังมากพอแน่ๆ ครับ ถ้าจะต้องกังวลไปทำไป เปลี่ยนเครื่องน่าจะดีกว่าครับ

stable internet

2.   Internet ที่มีความเสถียร

เวลาผมไปบรรยายหรืออธิบายให้ทุกคนฟัง ผมจะบอกเสมอว่า Internet ไม่ว่าจะแรงหรือไม่แรง ความเสถียรต้องมาก่อน หมายถึงเวลาที่เราต้อง Uplaod สัญญานขึ้นไปขณะ Live สัญญานต้องมีความนิ่ง ไม่แกว่งขึ้นๆ ลงๆ จะทำให้เราสามารถตั้งค่าได้อย่างถูกต้อง และ Live ได้ไปจนจบโดยไม่มีการหลุด

การ Live นั้น เราจะดูที่ความเร็วและความเสถียรในการ Upload เป็นหลัก ความเร็วของ Internet ที่เหมาะสมสำหรับการ Live จริงๆ แล้วเราอาจจะต้องการเพียง 10mbps เท่านั้น ถ้า Internet มีความเสถียร แต่หากไม่เสถียร เราจำเป็นต้องบวกเผื่อไว้ในใจอีก 2-3 เท่าตัว

ผมมีทำคลิปอธิบายเรื่องนี้ไว้แล้วตามลิงค์ด้านล่างนี้
OBS Studio ตอนที่ 10 : 1-2-3-4 สิ่งที่ควรเช็คก่อน Live

Internet เป็นหนึ่งในสิ่งที่ต้องทดสอบลำดับต้นๆ ก่อนที่จะเริ่มตามหาอุปกรณ์อื่นๆ ต่อไป เพราะหาก Internet ไม่ดีแล้ว เราก็จะไม่สามารถ Live ได้นั่นเอง

เซ็ตระบบ Live

3. ไมโครโฟนที่เหมาะกับรูปแบบการทำงาน

หลายคนมุ่งจะเซ็ตระบบ Live ให้มีภาพที่ดีก่อนโดยมองข้ามเรื่องเสียงไป แต่ผมอยากจะบอกว่า แม้ว่าภาพเราจะสวยแค่ไหน หากว่าเสียงไม่มีคุณภาพมากพอ อันนั้นจะเป็นหายนะกับเรามากกว่าครับ

ลองคิดตามดูนะครับ เราเตรียมเนื้อหามาแล้วอย่างดี เป็นเรื่องที่หลายๆ คนน่าจะสนใจ คนเข้ามาชมกันเยอะแยะ ภาพเราใช้กล้องคุณภาพสูง จัดไฟได้บรรยากาศ แต่ตอนพูดเสียงฟังแล้วขาดๆ หายๆ หรือฟังอู้อี้ไม่รู้เรื่อง เพียงไม่นาน คนก็จะหยุดดูครับ เพราะภาพสวยแต่ไม่เข้าใจเนื้อหา การ Live ครั้งนั้นจะไม่มีประโยชน์กับผู้ชมทันที

การเลือกไมค์มาใช้งานนั้น มีผลต่อคุณภาพในการทำ Live ของเราอย่างมากเลยครับ หากว่าเลือกไมค์ผิดชนิด ไม่ว่าจะคุณภาพต่ำเกินไป หรือคุณภาพดีเกินไป สามาารถทำให้การ Live ของเราเกิดข้อผิดพลาดได้

พออ่านแล้วอาจจะสงสัยว่า ไมค์คุณภาพดีเกินไปมีด้วยหรือ ทำไมคุณภาพยิ่งดีถึงทำให้คุณภาพเสียงในการ Live เราแย่ลง ผมจะอธิบายสั้นๆ ครับ

ไมค์ยิ่งคุณภาพดี ความไวเสียงและการตอบสนองต่อช่วงความถี่ของเสียงยิ่งสูง หากว่าห้องของเรา สามารถปรับแต่งให้เป็นห้องเก็บเสียง ไม่มีเสียงภายนอกเข้ามาได้ เราก็สามารถใช้ไมค์อะไรก็ได้ แต่หากว่าห้องของเราเป็นห้องนอนธรรมดาอย่างห้องของผม การใช้ไมค์ดีๆ จะทำให้ได้ยินเสียง Compressor แอร์ ได้ยินเสียงตู้เย็น และเสียงอื่นๆ ที่มาจากภายนอกคอนโดได้ง่ายนั่นเอง

ผมมีเขียนเรื่องของการเลือกใช้ไมค์ให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมการทำงานของเราไว้สองบทความ ด้านล่างนี้ครับ

หลังจากอ่านสองบทความนี้ น่าจะช่วยให้สามารถเลือกไมค์ในแบบที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมของห้องเรามาติดตั้งระบบ Live ได้ง่ายขึ้นครับ เมื่อเข้าใจแล้ว เราก็จะไปดูอุปกรณ์ตัวต่อไปก็คือกล้องนั่นเอง

เซ็ตระบบ Live

4. กล้อง DSLR หรือ Mirrorles ที่รองรับการทำ Live

คนที่อ่านบทความนี้และต้องการเซ็ตระบบ Live จะต้องอยากรู้เรื่องนี้เป็นลำดับต้นๆ แน่นอนว่ากล้องที่มีอยู่ใช้ได้หรือไม่ได้กับการติดตั้งระบบ Live ถ้าจะซื้อใหม่ใช้กล้องตัวไหนดี เพื่อที่จะนำมาทำ Live ให้สมบูรณ์ตรงตามความต้องการมากที่สุด

คุณสมบัติหลักๆ ที่สุดของกล้องที่เรานำมาทำ Live ได้นั้น ข้อแรกที่จำเป็นที่สุดคือ ต้องมี Clean HDMI Out ครับ

Clean HDMI Out หมายความว่ากล้องตัวนั้นจะต้องมีช่อง HDMI Out สำหรับเสียบสาย HDMI เพื่อต่อให้แสดงภาพออกไปที่หน้าจอมอนิเตอร์หรืออุปกรณ์แสดงผลอื่นๆ โดยที่ไม่มี Info ใดๆ ติดมากับภาพนั่นเอง

เซ็ตระบบ Live

ภาพด้านบนนี้เป็นตัวอย่างของภาพจากกล้องที่ยังไม่ได้ปิด HDMI Info ทำให้มีข้อมูลต่างๆ ที่เราไม่ต้องการปรากฏอยู่บนจอภาพ ซึ่งถ้าหากว่ากล้องตัวนี้สามารถปิด Info ได้ ก็เท่ากับว่ากล้องตัวนี้มี Clean HDMI Out แต่ถ้าไม่สามารถปิดได้ กล้องตัวนี้ก็จะไม่เหมาะสำหรับการทำ Live ของเรา

เซ็ตระบบ Live

เมื่อปิด HDMI Info แล้ว เราก็จะได้ภาพแบบเดียวกันกับที่กล้องจะถ่ายได้เมื่อกดบันทึก คือไม่มี Info ใดๆ ติดมาดังภาพด้านบนนี้ กล้องบางรุ่นจะยังสามารถแสดง Info ที่หน้าจอ LCD ของกล้องอยู่ แต่ให้ภาพจาก HDMI Out เป็นภาพ Clean ที่ไม่มีข้อมูลที่เราไม่ใช้ติดมา ก็จะสะดวกในการนำไป Live นั่นเอง

หากต้องการทดสอบว่ากล้องที่มีอยู่ มี Clean HDMI Out หรือไม่ สามารถลองได้โดยการต่อสาย HDMI เข้ากับกล้องไปออกจอมอนิเตอร์หรือทีวีที่บ้านก็ได้ แล้วลองหาเมนูที่ใช้สำหรับปิด HDMI Info ดู ถ้าไม่ทราบลองโทรสอบถามแบรนด์ของกล้องนั้นๆ หรือร้านค้าที่จำหน่ายกล้องก็ได้นะครับ

รุ่นกล้องเท่าที่ผมทราบว่ามี Clean HDMI Out ในวันที่ทำบทความและเคยทดลองใช้งานแล้ว มีตามนี้

Canon : 5D MK4, G7X MK3, 200D MK2, M50 MK2
Panasonic : GH4, GH5, G85, G95, G9, G100
Sony : A5100, A6400, A6500, A6600, A7 Series

สำหรับยี่ห้อและรุ่นอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ลองสอบถามทางร้านค้าดูอีกทีนะครับ

เซ็ตระบบ Live

นอกจากนี้กล้องบางรุ่น จะสามารถต่อสาย USB เพื่อนำภาพจากกล้องเข้ามาที่คอมพิวเตอร์ เสมือนใช้เป็น Webcam ได้ทันทีอีกด้วย เช่นตัวอย่างจากภาพด้านบนนี้ เป็นการนำภาพจากกล้องเข้ามาผ่านทางสาย USB ซึ่งหากกล้องตัวไหนมีความสามารถนี้ ก็ไม่ต้องกังวลเรื่อง Clean HDMI Out ครับ เพียงแต่คุณภาพอาจจะไม่เทียบเท่ากับการใช้กล่องแปลงสัญญานต่อจากสาย HDMI เข้ามา หากว่ารับได้ ก็สามารถใช้งานเพื่อเซ็ตระบบ Live ได้เลย

dc couple

5. ตัวจ่ายไฟสำหรับกล้อง

มีแบตเตอรี่แล้ว เจ้าตัวนี้ยังจำเป็นไหม? จะบอกว่าจำเป็นมากๆ ครับ เพราะการ Live แต่ละครั้ง ส่วมากแล้วจะกินเวลามากกว่าครึ่งชั่วโมงขึ้นไป ยังไม่รวมช่วงเวลาที่ทดสอบระบบก่อน Live อีก เพราะฉะนั้น กล้องบางรุ่นที่ความจุแบตเตอรี่น้อยๆ อาจจะแบตหมดไปก่อนที่จะเริ่มก็ได้ การมีอุปกรณ์สำหรับต่อไฟตรงเข้ากับกล้อง จะช่วยให้เราหมดกังวลว่าแบตเตอรี่จะหมดเมื่อไหร่

อุปกรณ์ตัวนี้มีชื่อเรียกว่า Dc-Couple หรือในไทยเราชอบเรียกกันว่า “แบตกระสือ” เพราะเป็นการนำตัวแปลงหน้าตาเหมือนแบตเตอรี่ของกล้องรุ่นนั้นๆ มาจ่ายไฟให้ตรงตามที่กล้องต้องการผ่านตัวแปลงไฟ ทำให้เราสามารถเสียบไฟบ้านผ่านตัวแปลงนี้ เพื่อจ่ายพลังงานให้กับกล้องได้ตลอดเวลานั่นเอง

อุปกรณ์เหล่านี้ ควรซื้อกับร้านค้าที่ไว้ใจได้ เพราะเกี่ยวข้องกับระบบไฟ รวมถึงต้องตรวจสอบรุ่นให้ตรงกับกล้องที่เราใช้ด้วยนะครับ

เซ็ตระบบ Live

6. ตัวแปลงสัญญานจาก HDMI เป็น USB 3.0 หรือ USB-C

กรณีที่กล้องของเราไม่มีระบบการแสดงภาพผ่านทางสาย USB หรือคุณภาพของภาพไม่เป็นที่น่าพอใจ เราจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์แปลงสัญญาน เพื่อนำภาพจาก HDMI Out มาเข้าสู่คอมพิวเตอร์ของเราอีกทีหนึ่ง

การต่อกล้องผ่านอุปกรณ์แปลงสัญญานตัวนี้ จะทำให้คอมพิวเตอร์ มองเห็นกล้องที่เราต่อเป็นเสมือน Webcam หนึ่งตัว แต่ให้ภาพที่มีคุณภาพสูง ใกล้เคียงกับการที่เราบันทึกวิดีโอจากกล้อง

กล้องบางรุ่น ยังสามารถส่งสัญญานเสียงผ่านทางกล่องแปลงเหล่านี้ได้ด้วย ทำให้สะดวกในการต่อไมค์ไวเลส หรือไมค์ Lavalier แล้วนำเสียงเข้ามาที่คอมพิวเตอร์พร้อมๆ กับสัญญานภาพได้เลย (กล้องบางรุ่นก็ไม่สามารถทำได้ ต้องตรวจสอบกับทางร้านค้าก่อนนะครับ)

ลักษณะของตัวแปลงสัญญานจาก HDMI เพื่อนำเข้ามาที่คอมพิวเตอร์ของเรา หลักๆ แล้วมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน ดังนี้ครับ

เซ็ตระบบ Live

6.1 ตัวแปลงสัญญานจาก HDMI ไปเป็น USB 2.0/3.0 หรือ USB-C (USB Video Capture Card)

ตัวแปลงแบบนี้ เหมาะสำหรับพกพาไปนอกสถานที่ ใช้งานรวมกับ Laptop แต่ก็สามารถใช้กับ Desktop PC ได้เช่นกัน เป็ฯการแปลงสัญญานภาพที่มาจากกล้องผ่านสาย HDMI ให้กลายเป็น Universal Video Camera (UVC) ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน จะมี Driver ตัวนี้อยู่แล้ว ทำให้สามารถใช้งานได้ทันที โดยที่ไม่ต้องติดตั้งอะไรเพิ่มเติม

รูปแบบของ USB ขงกล่องแบบนี้จะมีหลักๆ 3 รูปแบบด้วยกันคือ USB 2.0, USB 3.0 และ USB-C สำหรับคนที่ต้องการบันทึกวิดีโอที่ Bitrate สูงๆ ไม่ต้องการภาพที่ถูกบีบอัดมา ผมจะแนะนำให้ใช้ USB 3.0 และ USB-C เพราะมีช่วงการส่งสัญญานที่กว้างกว่า อุปกรณ์ที่ทำมาพร้อมกับ Port แบบนี้ก็จะมีการบีบอัดภาพที่น้อยกว่าด้วย

ข้อควรระวังของกล่องแปลงประเภทนี้ก็คือ สายอาจจะหลุดได้การการไปโดนระหว่างใช้งาน ทำให้เกิดอาการภาพค้าง และหากมีอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ช่อง USB ร่วมด้วย ก็อาจจะเกิดการพันกันของสัญญาน ทำให้กล่องหยุดทำงานด้วยเช่นกัน การแก้อาจจะทำได้โดยการ ถอดแล้วเสียบเข้าไปใหม่ หรือเปิดปิดอุปกรณ์ในกรณีที่โปรแกรมของเรารองรับ

avermedia gc570

6.2 ตัวแปลงสัญญานจาก HDMI ไปเป็น PCI-Express (PCI-Express Video Capture Card)

ตัวแปลงแบบนี้ถือว่ามีความเสถียรที่สุด เพราะต่อแล้วภาพจะไม่ค้างง่ายๆ เป็นการเสียบการ์ดแบบ PCI-Express เข้าที่บอร์ดของคอมพิวเตอร์โดยตรง ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องช่วงสัญญานไม่พอ หรือสายหลุด ส่วนเรื่องของคุณภาพภาพก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามยี่ห้อและราคา

หากต้องการความเสถียร รูปแบบนี้ถือว่าดีที่สุด แต่จำกัดอยู่ที่การใช้งานจะสามารถใช้ได้กับ Desktop PC เป็นหลักเท่านั้น ทำให้การ Live นอกสถานที่ อาจจะทำได้ไม่สะดวกเท่ากับตัวแปลงแบบ USB

JobyTelepodPro 4

7. ขาตั้งกล้องหรือแขนจับกล้อง เพื่อปรับมุมภาพให้ได้ตามที่ต้องการ

ในการเซ็ตระบบ Live สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้แน่ๆ ก็คือขาตั้งกล้องเพื่อตั้งกล้องให้ได้มุมภาพในแบบที่เราต้องการ ในกรณที่ห้องมีขนาดเล็ก ขาตัวใหญ่จากจะไม่สะดวก อาจจะใช้ขาตั้งกหล้องที่ตัวเล็กลงมาหรือขาตั้งกล้องที่ตั้งบนโต๊ะ ตามภาพตัวอย่างที่ผมใส่ไว้นี้ก็ได้

light live

8. ไฟส่องสว่าง เพื่อให้แสงสว่างเพียงพอแก่กล้อง

เมื่อแสงไม่เพียงพอ เราก็จะต้องไปเร่งความไวแสงที่กล้องหรือปรับแสงเพิ่มในโปรแกรมทำ Live ซึ่งอาจจะกระทบกับคุณภาพของภาพที่มีอยู่ได้ ดังนั้น การมีไฟสำหรับส่องเปิดหน้า หรือมีความสว่างที่เพียงพอในบริเวณที่ใช้ในการ Live จะช่วยให้เราได้ผลงานที่มีคุณภาพมากขึ้น

กรณีที่ Live ตอนกลางวัน อาจจะหันหน้าเข้าหาแสงธรรมชาติ อย่างเช่นหน้าต่าง แต่หากต้อง Live ในเวลากลางคืน การเซ็ตระบบ Live ของเรา จำเป็ฯจะต้องมีไฟส่องสว่างเอาไว้ช่วยด้วยแน่นอน

ไฟที่นิยมในตอนนี้ มักจะเป็นไฟ LED ที่สามารถปรับลดความสว่างได้ บางรุ่นจะสามารถเปลี่ยนสี เพื่อนำมาทำเป็นลูกเล่นได้ด้วย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ควรเลือกไฟที่ให้สีสันที่ตรงตามอุณภูมิสี เพื่อให้สีผิวของเราถูกต้องที่สุด และง่ายต้องการปรับสีอื่นๆ ในขั้นตอนการทำ Live ต่อไปด้วย

การประกอบอุปกรณ์เพื่อติดตั้งระบบ Live

เมื่อเราเตรียมอุปกรณ์พร้อมแล้ว ในขั้นตอนถัดมา เราจะต้องนำอุปกรณ์ทั้งหมด มาประกอบเข้าด้วยกันครับ รูปแบบการต่ออุปกรณ์ แบ่งเป็นสองส่วน คือส่วนของอุปกรณ์ที่ต้องต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ และส่วนของอุปกรณ์ที่ไม่ต้องต่อเข้าคอมพิวเตอร์ครับ

การประกอบอุปกรณ์ที่ต้องต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์

set up live access

จากภาพเราเพียงแค่นำกล้อง มาต่อเข้ากับตัวแปลงสัญญานตามแบบที่เรามี เพื่อนำภาพเข้ามาสู่คอมพิเวอตร์ของเรา ต่อไมค์เข้ากับเครื่อคอมพิวเตอร์ในกรณีที่เป็นไมค์ USB หรือต่อเข้ากับกล้องกรณีที่เป็นไมค์แบบ 3.5mm ก็ได้หากกล้องรองรับการส่งสัญญานเสียงผ่านทาง HDMI

สิ่งที่หลายคนอาจจะติดก็คือ ในกรณีที่ใช้ตัวแปลงสัญญานแบบ PCI-Express เราจำเป็ฯจะต้องลง Driver ตามค่ายที่เราใช้งานก่อน ไม่อย่างนั้น แม่ว่าสัญญานภาพจะเข้า แต่ก็จะไม่สามารถใช้งานตัวการ์ดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพครับ

ในส่วนของการตรวจสอบว่าอุปกรณ์ตัวไหน ทำงานแล้วหรือยัง สามารถไปดูได้ที่ส่วนของการใช้งานโปรแกรมต่อไปครับ

การเซ็ตอุปกรณ์ที่ต้องไม่ต้องต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์

อุปกรณ์อื่นๆ ที่ไม่ต้องต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ มีความสำคัญอย่างมากเช่นกัน ในการติดตั้งระบบ Live ของเราให้มีคุณภาพดี ผมขอแยกเป็นหัวข้อย่อยๆ ตามนี้ครับ

เซ็ตค่าไฟส่องสว่าง
ไฟที่เราใช้งานจะต้องมีแสงที่พอดี อย่าสว่างเกินไปหรือมืดไป และมีทิศทางที่เหมาะสม สำหรับการเซ็ตไฟ อย่างผมจะมีไฟแค่ดวงเดียวเท่านั้น ที่เป็นไฟหลัก และจะมีไฟบรรยากาศอีกหนึ่งดวง ส่องเพื่อเปิดฉากหลัง ทำให้ได้บรรยากาศในตามภาพในลักษณะนี้

เซ็ตระบบ Live

ส่วนตำแหน่งของการวางไฟ ผมวางเอาไว้ในลักษณะตามภาพนี้ครับ

เซ็ตระบบ Live

หากใครอยากดูรายละเอียดแบบลึกๆ หน่อยเรื่องของการจัดแสง ผมขอแนะนำให้ดูตัวอย่างการจัดแสงด้วยไฟดวงเดียวที่คุณเขยจากเพจ เขยกับหมิว ทำเอาไว้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้ครับ
เทคนิคการจัดไฟ โดยใช้ไฟเพียง 1 ดวงเท่านั้น

กล้องและขาตั้งกล้อง
ในการติดตั้งระบบ Live กล้องควรจัดให้อยู่ในมุมที่มองแล้วมีมิติ ให้เห็นพื้นที่ด้านหลังบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดความอึดอัด ควรเลือกช่วงเลนส์ที่เหมาะสม ไม่ให้มิติของหน้าผิดเพี้ยนไป

ในเรื่องของเลนส์ที่มีผลต่อรูปหน้า ผมขอแนะนำให้อ่านบทความจาก Fotofaka บทความนี้ครับ

เซ็ตระบบ Live

ในส่วนของการตั้งค่ากล้อง หากสามารถปรับแบบ Mannual ได้ ควรปรับ Shutter Speed ให้อยู่ที่ 1/60 ในกรณีที่ใช้ภาพวิดีโอแบบ 30fps และ 1/50 สำหรับวิดีโอแบบ 25fps ส่วนคนที่ชอบภาพแบบลื่นๆ ที่ 60fps จะใช้ Shutter Speed ที่ 1/125 ก็ได้ครับ

ค่า ISO หรือความไวแสงของกล้อง ถ้าแสงเพียงพอ ค่านี้ควรตั้งให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันสัญญานรบกวน ปกติกล้องของผมจะตั้งไว้ที่ ISO 200 เสมอ

ส่วนใครอยากให้ฉากหลังเบลอมาก เบลอน้อย ลองปรับค่ารู็รับแสง หรือค่า F ดูนะครับ ยิ่งน้อยเท่าไหร่ พื้นหลังก็ยิ่งเบลอเท่านั้น แต่ระวังกล้องจะหลุดโฟกัสได้ง่ายขึ้นไปด้วยนะครับ

เมื่อเราติดตั้งระบบ Live เสร็จแล้ว ส่วนต่อไป ไปดูเรื่องของโปรแกรมกันบ้างครับ

โปรแกรมที่ใช้ในการทำ Live

สำหรับรูปแบบรายการแนวพูดคุยนั้น เราสามารถเลือกโปรแกรมมาทำ Live ได้มากมาย ในทุกระบบปฏิบัติการ หากไม่ต้องการเซ็ตระบบ Live ให้มันวุ่นวายอะไรมาก ผมได้มีทำบทความเกี่ยวกับโปรแกรมทำ Live อย่างง่ายๆ สำหรับมือใหม่เอาไว้ที่บทความด้านล่างนี้ครับ

คอมไม่แรงก็ Live ได้ !! ด้วย 3 ช่องทาง ทำ Live แบบเบาเครื่อง

ส่วนคนที่ต้องการจัดการภาพและเสียงที่มีความสามารถมากกว่าโปรแกรมที่ผมใส่ไว้ในบทความ แน่นอนว่าโปรแกรมที่ผมจะแนะนำก็คือ OBS Studio ครับ ซึ่งทุกคนสามารถเริ่มต้นการใช้งานได้ตามคลิปด้านล่างนี้ครับ

หรือหากต้องการ Live พร้อมกันกับแขกรับเชิญ สามารถลองดูคลิปการใช้งาน Streamyard ได้ที่ด้านล่างนี้เช่นกันครับ

มาถึงส่วนท้ายของบทความแล้วครับ ทุกคนจะเห็นว่า สิ่งที่ค่อนข้างจะมีรายละเอียดมากสักหน่อยในบทความก็คือ ขั้นตอนการเลือกอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับรูปแบบการ Live แนวพูดคุยของเราก่อน เพราะไม่ใช่ว่ามีอุปกรณ์ตามลิสต์แล้วจะสามารถเซ็ตระบบ Live อย่างมีคุณภาพได้เลย ที่เหลือหลังจากี้ก็คือ การใช้งานโปรแกรมให้คล่องระหว่างที่เราทำ Live แล้วล่ะครับ

ใครอยากรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับการเซ็ตระบบ Live เพิ่มเติม สามารถไปพูดคุยที่เพจ Undervlog กันได้นะครับ

อย่าลืมกดติดตามในช่องทางเหล่านี้ สำหรับบทความและคลิปใหม่ๆ จากผมด้วยนะครับ ^^

Facebook Page https://fb.com/undervlog
Youtube Channel https://www.youtube.com/undervlogdotblog
Instagram https://www.instagram.com/undervlog/
Twitter https://twitter.com/undervlogth
RSS Feed https://undervlog.blog/feed/